ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ
ข่าวอาเซียน ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ
ข่าวอาเซียน ภูมิหลัง
- ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 (ค.ศ. 1977) โดยในระยะแรกเน้นความร่วมมือด้านการพัฒนา ต่อมาขยายถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ทั้งในระดับทวิภาคีและในลักษณะกลุ่มประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย และยังคงต้องการมีบทบาทสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตลอดมา
- ในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ มีท่าทีที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับภูมิภาคเอเชีย และเล็งเห็นความสำคัญของอาเซียนทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดี Barack Obama ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Leaders’ Meeting) รวม 3 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2552 ที่สิงคโปร์
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2553 ที่นครนิวยอร์ก
- ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2554 ที่บาหลี
และมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 4 ในเดือน พฤศจิกายน 2555(อาจขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน) โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้ำเสมอว่า สหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของแปซิฟิก (Pacific Nation) และแสดงเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Obama ยังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit –EAS) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2554 ที่บาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐฯ เข้าร่วม EAS
- ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ในช่วงเดือน ก.ค. 2546 – ก.ค. 2549 ซึ่งในช่วงดังกล่าว อาเซียนและสหรัฐฯ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดทำปฏิญญาร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ระหว่างประเทศ (ASEAN-U.S. Joint Declaration for Cooperation to Combat International Terrorism) เมื่อปี 2545 และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Arrangement – TIFA) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกันเมื่อปี 2549
- ประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญได้แก่ พัฒนาการในเมียนมาร์ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบ ASEAN Regional Forum (ARF) การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนรวมทั้งการเชิญชวนให้ประเทศอาเซียนพิจารณาเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือ Trans-Pacific Partnership (TPP) กรอบของความริเริ่มแม่น้ำโขง Lower Mekong Initiative (LMI) ซึ่งเน้นในเรื่อง คมนาคม การศึกษา สาธารณสุข และการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การบริหารจัดการภัยพิบัติ การสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015 และการพัฒนาความเชื่อมโยง ในภูมิภาคของอาเซียน การให้ความสำคัญของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และการมีบทบาทที่แข็งขันในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS)
- สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และปัจจุบันมีนาย David Lee Carden เป็นเอกอัครราชทูต
- ที่ประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง ASEAN-U.S. Eminent Persons Group (EPG) โดยมอบหมายภารกิจให้ EPG เสนอแนะแนวทางการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ จาก ‘enhanced partnership’ เป็น ‘strategic partnership’ ต่อผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ โดยคาดว่าที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิจะเสนอรายงานในการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 4 ในเดือนพฤศจิกายน 2555
- รมว.กต. สหรัฐฯ นาง Hillary Clinton ได้นำคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ กว่า 100 คนเข้าร่วมในการประชุม US-ASEAN Business Forum (เป็นคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาหาแนวทางความร่วมมือและลงทุนในภูมิภาคอาเซียน) ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 13 ก.ค. 2555 โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์เป็นเกียรติแก่การประชุมดังกล่าวด้วย
กลไกความร่วมมือ
- เมื่อปี 2548 สหรัฐฯ และอาเซียนได้ออกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมกันว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน เพิ่มพูนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ (Joint Vision Statement on the ASEAN-US Enhanced Partnership) ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
- ปัจจุบัน อาเซียน-สหรัฐฯ มีกลไกความร่วมมือในหลายระดับ ได้แก่ การประชุมสุดยอด ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-U.S. Leaders’ Meeting – AULM) เป็นการประชุมระดับผู้นำ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ (PMC) เป็นการประชุมประจำปีระหว่างรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ การประชุม ASEAN-U.S. Dialogue เป็นการประชุม ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ซึ่งจัดขึ้นทุกปี โดยมีหัวข้อการหารือครอบคลุมทุกเรื่อง การประชุม ASEAN-U.S.Joint Cooperation Committee (JCC) เป็นการประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรอาเซียน กับเอกอัครราชทูตกิจการอาเซียนของสหรัฐฯ และการประชุม ASEAN-U.S. Working Group Meeting เป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ของประเทศสมาชิก เพื่อพิจารณาโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียน และสหรัฐฯ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาความร่วมมือตาม Plan of Action to Implement the ASEAN U.S. Enhanced Partnership